หลายๆ คนที่กำลังมองหาสถาปนิกมาออกแบบบ้านให้กับเรา ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่าเราต้องคุยกันแบบไหนยังไงบ้าง เพื่อให้สถาปนิกเข้าใจกับสิ่งที่เราต้องการ ทั้งการออกแบบตามที่เราวาดฝันไว้ หรือจะต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และที่สำคัญอยู่ในงบประมาณที่เรานั้นตั้งเอาไว้ด้วย มีปัจจัย 5 ปัจจัยหลักๆ ง่ายๆ ในการเตรียมตัวที่จะเลือกและพูดคุยกับสถาปนิก
-
การเลือกสถาปนิก ผู้ออกแบบ
ขั้นตอนแรกต้องเริ่มจากหาผู้ออกแบบที่ตรงใจเราก่อน อาจจะสอบถามจากคนที่เรารู้จัก หรือหาในช่องทางออนไลน์ โดยดูผลงานจากสถาปนิกที่เคยออกแบบไว้ ว่าเป็นแนวที่เราชื่นชอบหรือไม่ และดูการรีวิวของลูกค้าเจ้าเก่าของสถาปนิกคนนั้นว่าผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจหรือไม่
#ให้ลองเลือกสถาปนิกหลายๆ เจ้า แล้วลองทักไปคุย สอบถามแนวทางการทำงานและการออกแบบของสถาปนิกเบื้องต้น ว่าเป็นแนวทางที่เราคิดหรือไม่เพราะสถาปนิกมีแนวทางการออกแบบบ้านที่แตกต่างกัน ซึ่งรสนิยมและสไตล์ความชอบที่แตกต่างของสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นเองที่จะทำให้เราเลือกสถาปนิกที่ตรงใจและคุยกันรู้เรื่องมากที่สุด
-
เตรียมบรีฟให้ผู้ออกแบบ
บอกความต้องการของเราเองให้สถาปนิกทราบ ไม่ว่าจะสีหรือสไตล์ที่เราชอบ ถ้าไม่แน่ใจลองปรึกษากับทางสถาปนิกดู ว่ามีแนวทางการออกแบบให้อย่างไรบ้าง ซึ่งสถาปนิกส่วนใหญ่จะใช้วิธีดูจากช่วงอายุ ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยเป็นหลักวิธีนี้อาจจะช่วยให้ได้ไอเดียการออกแบบที่ดีกว่าที่คิดไว้ได้
-
การเตรียมงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ
ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทำให้เราต้องคำนึงถึงรายรับ – รายจ่าย ที่เราจะต้องใช้กันแล้ว มีการจำกัดงบประมาณค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆของผู้ว่าจ้างก็คือ อยากได้การออกแบบที่สวยได้วัสดุที่ดีแต่ราคาถูก ซึ่งเรื่องพวกนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกันให้เข้าใจทั้งผู้ออกแบบและผู้รับเหมา ตั้งแต่เริ่ม ให้ลองตีงบแบบคร่าวๆ ไว้ในใจก่อน ไม่ก็สอบถามทางสถาปนิกดูว่างบประมาณเท่านี้ได้แค่ไหนเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
#แนะนำให้เตรียมรูปแบบวัสดุคร่าวๆ ที่อยากจะใช้เพื่อที่ทางสถาปนิกจะได้ช่วยหา Option ของวัสดุที่เหมือนหรือใกล้เคียงเพื่อประหยัดงบประมาณเราไม่ให้บานปลาย
-
ตกลงเรื่องระยะเวลาการทำงาน
สอบถามผู้ออกแบบให้กำหนดระยะเวลาในการสร้างและออกแบบใช้เวลาเท่าไหร่ เนื่องจากสถาปนิกต้องใช้เวลาในการออกแบบงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์ของเรา บางทีวางแผนออกแบบที่กินเวลากว่าปกติสักหน่อย แต่แบบที่ออกมาชัดเจน คำนวณวัสดุได้ไม่ขาดไม่เกิน ปัญหาตรงหน้างานน้อย จะทำให้ช่วยลดระยะเวลาการออกแบบและการสร้างได้ดีเลยทีเดียว
#ในขั้นตอนการออกแบบสามารถพูดคุยระยะเวลาว่าสามารถแก้แบบได้กี่จำนวนครั้ง แก้กี่ครั้งคิดเงินเพิ่มเท่าไหร่ และที่สำคัญควรมีสัญญาการก่อสร้าง ว่าแต่ละงวดงานเป็นอย่างไรบ้าง จะต้องจ่ายแต่ละงวด งวดละเท่าไหร่ และถ้าไม่เสร็จตามที่คุยไว้ก็ต้องมีค่าปรับ
-
สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ไม่ว่าจะตัวสถาปนิกเองและตัวเราเอง เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกัน เนื่องจากการทำงานที่ต้องร่วมมือในหลายๆฝ่าย สถาปนิกเป็นศูนย์กลางการทำงานเพื่อให้งานเป็นไปอย่างราบรื่นและเข้าใจแบบต่างๆ ตรงกัน
#เข้าใจการทำงานของสถาปนิก ให้เวลา ให้เกียรติงานออกแบบที่สถาปนิกแนะนำ (แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้แบบมีเหตุผล) จงเป็นเพื่อนกับสถาปนิก เนื่องจากการทำงานจะกินเวลาค่อนข้างนาน ทั้งงานออกแบบไปจนถึงก่อสร้างเสร็จ การที่เราเป็นเพื่อนกับผู้ออกแบบนั้นจะทำให้อะไรๆ ที่เราดิลกันไว้หรือจะเปลี่ยนใจที่จะปรับเปลี่ยน ก็จะทำให้การพูดคุยนั้นเป็นเรื่องที่ง่าย เมื่อคุยกับสถาปนิกแบบถูกคอกันแล้วไม่ว่าเรื่องอะไรก็ง่ายไปหมดแน่นอน