สถาปนิกแตกต่างกับวิศวกรอย่างไร ?

หลายๆ คนมักอาจที่จะเข้าใจผิดระหว่างวิชาชีพที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมของบ้านเรา ที่ในสื่ออย่างละครหรือภาพยนตร์นั้นมักไม่ได้พ่วงความรู้และความเข้าใจในสาขาวิชาชีพต่างๆ ทำให้หลายๆ คนมักจะสับสนหรือไม่เข้าใจในหน้าที่และการปฏิบัติงานของสาขาวิชาชีพต่างๆ

วันนี้จะมาอธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆ ในหน้าที่และความแตกต่างของสถาปนิกและวิศวกรกัน สถาปนิกนั้น จะมีหน้าที่ในการออกแบบรูปทรง รูปร่าง หน้าตา รวมไปถึงการใช้สอยของอาคารบ้านเรือน ส่วนวิศวกรนั้น จะเป็นสาขาที่เกี่ยวกับการก่อสร้างต่างๆ จะมีหน้าที่คำนวณเกี่ยวกับโครงสร้างของอาคารบ้านเรือนต่างๆ รวมถึงระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และอื่นๆ ซึ่งค่อนข้างที่จะมีเรื่องการคำนวณตัวเลขมาเกี่ยวข้องมากหน่อย แต่แน่นอน ระหว่างสถาปนิกและวิศวกรนั้นจะต้องมีการทำงานร่วมกันแต่หากพูดถึงหน้าที่และการปฏิบัติงานแล้วนั้นแตกต่างกันออกไป

 

แต่ในขณะเดียวกันนั้นคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านและการก่อสร้าง ซึ่งถ้าความต้องการไม่ซับซ้อน และบ้านที่จะออกแบบนั้นมีขนาดไม่เกิน 150 ตารางเมตร ก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สถาปนิกในการออกแบบก็ได้ และยังมีข้อกฎหมายที่เอื้ออำนวยในส่วนนี้อยู่ ด้วยการกำหนดให้ อาคารพักอาศัยทั่วไปที่มีพื้นที่ไม่เกิน 150 ตารางเมตร หรืออาคารที่เกี่ยวกับการเกษตรกรที่มีพื้นที่ไม่เกิน 400 ตารางเมตร ไม่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกในการเซ็นออกแบบและควบคุมงานในการขออนุญาตก่อสร้าง แต่หากเราต้องการให้บ้านออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบรวมไปถึงมีการใช้งานที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม มีพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ในรูปแบบที่สะดวกกว่าเดิม การว่าจ้างสถาปนิกเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด เพราะนอกจากการออกแบบยังมีในเรื่องของกฎหมายอาคาร และการคำนึงถึงงบประมาณในภาพรวม ซึ่งสถาปนิกจะสามารถที่จะให้คำปรึกษาและเข้ามาช่วยออกแบบในส่วนนี้ได้ สถาปนิกจะสื่อสารให้เราเห็นถึงรูปแบบบ้านต่างๆ ที่ต้องการสร้าง ทั้งการทำภาพ เขียนแบบ และโมเดลจำลอง ประกอบทั้งข้อดีข้อเสียและทางเลือกต่างๆ มานำเสนอแก่เรา ทำให้เห็นถึงรูปแบบของบ้านที่เราต้องการได้อย่างชัดเจนทำให้เรานั้นสามารถเห็นภาพจริง โดยที่ไม่ต้องไปกังวลเมื่อเกิดปัญหาหรือความไม่พอใจเมื่อบ้านสร้างเสร็จ แถมยังสามารถที่จะหาข้อสรุปและความเห็นจากคนในบ้านก่อนที่จะทำการก่อสร้างโดยที่ไม่ต้องขัดใจกันในภายหลังได้อีกด้วย ซึ่งสำหรับคนที่มีประสบการณ์ในการสร้างบ้านนั้นย่อมจะรู้ดีว่าปัจจัยหลายๆ อย่างนั้นมีส่วนสำคัญต่อการลงทุนไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรือเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง หากเราสามารถที่จะเห็นต้นแบบจริงๆ และนำเสนอความต้องการของตัวเองรวมถึงรูปแบบต่างๆ ของพื้นที่ใช้สอยและบ้านที่เราอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นดีเทลเรื่อง สี รูปลั๊กไฟ หน้าต่าง และอื่นๆ เราก็สามารถที่จะสรุปงานออกมาเพื่อให้สถาปนิกสามารถที่จะดำเนินงานต่อไปได้ เพื่อที่จะได้ส่งงานต่อไปให้อย่างวิศวกรและเหล่าทีมงาน เพราะหากไม่มีการทำโครงสร้างสรุปเป็นรูปแบบมาให้เราเห็นภาพ ถึงความแตกต่างและข้อดีข้อเสียต่างๆ เราอาจจะต้องมานั่งแก้ไขในส่วนที่ไม่ถูกใจหรือผิดพลาดได้ เสียทั้งเวลา เสียทั้งงบประมาณที่ตั้งเป้าไว้อีกตังหาก

 

 

แต่ในทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าวิศวกรจะออกแบบบ้านได้ไม่ดี เพราะในความใส่ใจและสนใจในแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน สำหรับในวิศวกรบางท่านที่ผ่านประสบการณ์มาก็อาจจะทำได้ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่าวิชาชีพสถาปนิกนั้นเป็นวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมาได้โดยตรง จึงมีความรู้ ความสามารถ และภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบในการออกแบบบ้านได้ครบเครื่องมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากถามสถาปนิกว่าใส่เหล็กเส้นขนาดเท่าไหร่ดีในคานก็อาจจะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้องตรงเสมอไป และหากถามวิศวกรว่า เราจะแก้ไขปัญหาพื้นที่ใช้สอยตรงนี้อย่างไรให้ใช้สอยได้มากกว่าเดิมก็อาจจะได้คำตอบที่ดีแต่ก็อาจจะมีวิธีที่ดีมากกว่านั้น ดังนั้นการเลือกใช้ช่างให้ตรงกับงานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด